Victor Emmanuel III (1869–1947)

พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ (พ.ศ. ๒๔๑๒–๒๔๙๐)

 พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๓ ของราชอาณาจักรอิตาลี ครองราชย์ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๐–๑๙๔๖ ทรงเป็นนักการทหารและไม่โปรดเผชิญปัญหาทางการเมือง ทั้งมักปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของรัฐสภา ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ทรงโน้มน้าวให้อิตาลีประกาศยกเลิกความเป็นกลางและเข้าข้างฝ่ายความตกลงไตรภาคี (Triple Entente)* โดยเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย และประกาศสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีและเยอรมนี แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลงอิตาลีกลับไม่ได้ดินแดนต่าง ๆ ตามที่ตกลงกัน จึงทำให้พระองค์ทรงปล่อยให้พรรคฟาสซิสต์และเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ซึ่งมีนโยบายที่สำคัญเพื่อกู้ศักดิ์ศรีและขยายอำนาจของอิตาลีเข้ามามีอำนาจปกครอง เมื่อมุสโสลีนีสถาปนาอำนาจเผด็จการและลิดรอนสิทธิต่าง ๆ ของชาวยิว ตลอดจนเข้ารุกรานประเทศอื่น ๆ พระองค์ก็ไม่ทรงคัดค้าน หรือแม้แต่การนำอิตาลีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ที่อิตาลียังไม่มีความพร้อมที่จะทำสงครามได้ผลของสงครามสร้างความหายนะและทำลายชื่อเสียงของอิตาลี การปลดมุสโสลีนีออกจากตำแหน่งผู้นำรัฐบาลและจับกุมคุมขังก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นท้ายที่สุดนำไปสู่การลงประชามติและการยุบเลิกระบอบกษัตริย์ในอิตาลีใน ค.ศ. ๑๙๔๖ ซึ่งทำให้พระองค์ต้องทรงลี้ภัยไปประทับที่อียิปต์

 พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่๓เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ (Umberto I ค.ศ. ๑๘๗๘–๑๙๐๐) แห่งราชวงศ์ซาวอย (Savoy)* และสมเด็จพระราชินีมาร์เกริตา (Margherita) ประสูติเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๖๙ ณ นครเนเปิลส์ ทรงมีพระวรกายเล็กตั้งแต่ประสูติ แม้เมื่อเจริญพระชันษาเต็มที่ ทรงสูงเพียง ๑๕๓ เซนติเมตรซึ่งนับว่าเป็นผู้ชายร่างเล็กมาก แม้ในมาตรฐานความสูงของชาวยุโรปทั่วไปในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ด้วย ทำให้พระองค์ทรงถูกเรียกขานว่า “เจ้าตัวเล็ก” ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘–๑๙๑๘)* แห่งจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* เรียกพระองค์ว่า “คนแคระ” และมุสโสลีนี นายกรัฐมนตรีและผู้นำหรือดูเช(Duce)ของรัฐบาลอิตาลีระหว่างค.ศ. ๑๙๒๒–๑๙๔๓ ล้อเลียนพระองค์ลับหลังว่า “ปลาซาร์ดีนตัวเล็ก” (little sardine)

 พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ทรงดำรงพระอิสริยยศเดิมว่าเจ้าชายแห่งเนเปิลส์ (Prince of Naples) ขณะประสูติพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ พระราชบิดายังมิได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ขณะทรงพระเยาว์ทรงรับรู้เรื่องราวของรีซอร์จีเมนโต (Risorgimento)* หรือการรวมชาติอิตาลีที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ (Victor Emmanuel II ค.ศ. ๑๘๖๑–๑๘๗๘ กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย ค.ศ. ๑๘๔๙–๑๘๖๑, กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอิตาลี ค.ศ. ๑๘๖๑–๑๘๗๘)* พระอัยกา กษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรอิตาลี และทรงได้รับการปลูกฝังให้นำอิตาลีไปสู่ความสำเร็จและความยิ่งใหญ่ดังที่เกิดขึ้นในสมัยจักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) รวมทั้งการขยายอาณานิคมของอิตาลีตามกระแสลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)* ในแอฟริกาในรัชสมัยของพระราชบิดา ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงได้รับการสนับสนุนให้ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ กฎหมาย และโดยเฉพาะวิชาการด้านการทหารทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ ใน ค.ศ. ๑๘๘๗ ขณะมีพระชนมายุ ๑๘ พรรษา เจ้าชายแห่งเนเปิลส์ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการในกองทัพ จนทำให้พระองค์โปรดการเป็นทหารเป็นอย่างยิ่ง และติดเป็นพระนิสัยไปโดยตลอดจนเมื่อได้เป็นกษัตริย์แล้ว ก็เป็นที่รู้จักกันว่า “กษัตริย์นักการทหาร” (Soldier King)

 ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๖ เจ้าชายแห่งเนเปิลส์ทรงเสกสมรสกับเจ้าหญิงเอเลนา (Elena) พระธิดาในเจ้าชายนิโคลัสแห่งมอนเตเนโกร มีพระราชโอรสและพระราชธิดาร่วมกัน ๕ พระองค์ ซึ่งรวมทั้งพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒ (Umberto II ค.ศ. ๑๙๔๖)* กษัตริย์องค์สุดท้ายของอิตาลี และมาฟัลดา เจ้าหญิงฟิลิปเปแห่งเฮสส์ (Mafalda, Princess Philippe of Hesse) ซึ่งต่อมาทรงตกเป็นเหยื่อของลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ที่มีมุสโสลีนีเป็นผู้นำลัทธิคนสำคัญ พระองค์ถูกจับกุมและคุมขังในค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ที่บูเคินวัลด์ (Buchenwald) และสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ จะสิ้นสุดลงซึ่งการขยายตัวของลัทธิฟาสซิสต์ในอิตาลีนับเป็นผลพวงที่พระราชบิดาทรงปล่อยให้ลัทธิทางการเมืองของพวกหัวรุนแรงนี้ขยายตัวไปทั่ว

 พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ พระราชบิดาซึ่งทรงถูกพวกลัทธิอนาธิปไตย (Anarchism)* ลอบปลงพระชนม์และสวรรคตอย่างกะทันหันในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ โดยก่อนหน้านี้พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ ก็มิได้เคยพระราชทานคำแนะนำให้พระราชโอรสเตรียมพระองค์เป็นกษัตริย์ของประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆพระราชดำรัสที่ทรงชี้แนะจึงมีแต่ให้ทรงรู้จักการลงพระนาม อ่านหนังสือพิมพ์และทรงม้าเท่านั้น อย่างไรก็ตาม พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ก็ทรงดำเนินรอยตามบูรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซาวอย โดยการสนับสนุนรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่ทรงทำแตกต่างจากพระราชบิดา คือการต่อต้านพวกปฏิกิริยาขวาจัดที่มีบทบาทในคณะรัฐบาลในรัชสมัยพระราชบิดา และหันไปสนับสนุนการปฏิรูปประเทศของพวกนักการเมืองสายกลางและแนวทางเสรีนิยม โดยเฉพาะนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ของนายกรัฐมนตรีโจวันนี โจลิตตี (Giovanni Giolitti) ที่เรียกกันว่า โครงการนิวดีล (New Deal) ของอิตาลีที่เน้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การว่างงาน และการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน

 อย่างไรก็ดี ความแตกแยกและการเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างประชาชนที่ร่ำรวยทางตอนเหนือกับชาวนาชาวไร่ที่ยากจนทางตอนใต้การฉ้อราษฎร์บังหลวงตลอดจนปัญหากรุงโรม (Roman Question)* ที่สันตะปาปานับแต่ค.ศ. ๑๘๗๐ทรงปฏิเสธการยึดครองกรุงโรมในการรวมชาติอิตาลี โดยสันตะปาปาทรงประท้วงรัฐบาลอิตาลีด้วยการจำกัดที่ประทับแต่เฉพาะในวังวาติกันเท่านั้น และห้ามผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกมีส่วนร่วมในการเมืองอิตาลีด้วยนั้น ล้วนสร้างความอ่อนแอให้แก่รัฐบาลผสมของอิตาลีเป็นอันมากและทำให้การปฏิรูปไม่สัมฤทธิ์ผล กอปรกับการก่อสงครามอิตาลี-ตุรกี (Italo-Turkish War ค.ศ. ๑๙๑๑–๑๙๑๒)* เพื่อยึดครองตริโปลี (Tripoli) หรือลิเบีย (Libya) รวมทั้งดินแดนริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในแอฟริกาที่ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับอิตาลี ซึ่งแม้อิตาลีจะเป็นฝ่ายมีชัยชนะ แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำสงครามเป็นอันมาก จนในที่สุดรัฐบาลต้องเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงมากขึ้น ก่อให้เกิดการประท้วงทั่วไปจนเศรษฐกิจของประเทศเป็นอัมพาต ขณะเดียวกันแทนที่พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ จะทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซง กลับทรงจำกัดบทบาทพระองค์ในฐานะกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงปัญหาบ้านเมืองตลอด และใช้เวลาหมดไปกับการสะสมเงินเหรียญประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ทรงโปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๐–๑๙๑๔ เมื่อรัฐสภาอิตาลีประสบปัญหาความแตกแยกและขาดเสถียรภาพ พระองค์ก็ใช้พระราชอำนาจเข้าแทรกแซงน้อยครั้งมาก

 ในระยะแรกของสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ทรงสนับสนุนให้อิตาลีประกาศตนเป็นกลาง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ร่วมเป็นภาคีสมาชิกของสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี (Triple Alliance)* และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคู่สนธิสัญญาโดยเฉพาะเยอรมนี ต่อมาในต้น ค.ศ. ๑๙๑๕ อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ก็สามารถชักชวนให้อิตาลีเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตรได้ โดยมีการลงนามในสนธิสัญญาลอนดอน (Treaty of London)* ซึ่งเป็นสนธิสัญญาลับ โดยฝ่ายสัมพันธมิตรจะตอบแทนดินแดนต่าง ๆ ให้ เช่น ตรีเอสเต (Trieste) เตรนติโน (Trentino) อิสเตรีย (Istria) ดัลเมเชีย (Dalmatia) รวมทั้งดินแดนอื่น ๆ ในแอฟริกาและดินแดนในครอบครองของตุรกี ซึ่งจะทำให้อิตาลีมีความมั่นคงในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อย่างไรก็ดี นักการเมืองจำนวนไม่น้อยต่อต้านการเข้าสู่สงครามของอิตาลีและมีผลให้นายกรัฐมนตรีอันโตนีโอซาลันดรา (Antonio Salandra) ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง พระเจ้าวิกเตอร์เอมมานูเอลที่ ๓ ซึ่งทรงสนับสนุนการเข้าสู่สงครามของอิตาลีจึงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซงและทรงระงับการลาออกของซาลันดรา ทรงตัดสินพระทัยเข้าเป็นฝ่ายความตกลงไตรภาคีหรือฝ่ายสัมพันธมิตรโดยมีประชาชนจำนวนกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คนเดินขบวนสนับสนุน ณ จัตุรัสโปโปโลหรือจัตุรัสประชาชน (Piazzadel Popolo) เมื่อวันที่๑๖พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ อีกสัปดาห์ต่อมา พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมา-นูเอลที่ ๓ ก็ทรงประกาศสงครามกับออสเตรีย-ฮังการี และอีก ๑ ปีต่อมา ในวันที่ ๒๘ สิงหาคม กับเยอรมนี

 ระหว่างสงคราม แม้อิตาลีต้องเผชิญกับความล้มเหลวทางการทหารที่กองทัพอิตาลีพ่ายแพ้อย่างยับเยินในยุทธการที่คาปอเรตโต (Battle of Caporetto)* ที่คร่าชีวิตทหารจำนวนมาก และวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม–พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๗ พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ก็ทรงวางพระองค์อย่างสงบและไม่หวั่นไหว ทั้งยังแสดงความเป็นผู้นำเมื่อจอมพล แฟร์ดีนอง ฟอช (Ferdinand Foch)* แห่งกองทัพฝรั่งเศสได้รายงานพระองค์ถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบัญชาการรบของนายพลลุยจี กาโดร์นา (Luigi Cadorna) พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ก็ทรงไตร่ตรองอย่างรอบคอบและทรงปลดนายพลกาโดร์นา และแต่งตั้งนายพลอาร์มันโด ดีอัซ (Armando Diaz) ขึ้นทำหน้าที่แทน ทั้งยังชักจูงให้ผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตรเห็นด้วยว่ากองกำลังอิตาลีสามารถตรึงกำลังต้านทานการบุกรุกของศัตรูได้ที่แม่น้ำปีอาเว (Piave) และเรียกร้องให้ชาวอิตาลีร่วมกันรณรงค์ป้องกันแนวรบแม่น้ำปีอาเว (Piave Line) ทำให้ทั้งพวกสังคมนิยมและพวกต่อต้านสงครามกลุ่มต่าง ๆ หันมาร่วมมือกับกองทัพอิตาลีรักษาแนวรบแม่น้ำปีอาเวได้สำเร็จและสามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้

 เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง อิตาลีได้รับการยกย่องให้เป็น ๑ ใน ๔ มหาอำนาจ (The Big Four) ร่วมกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส รัสเซียได้ถอนตัวออกจากสงครามใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘–๑๙๒๑)* จึงนับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของอิตาลีที่พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ตัดสินพระทัยเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตร อย่างไรก็ดี ในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* ต้น ค.ศ. ๑๙๑๙ อิตาลีได้ถูกประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรีเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* แห่งอังกฤษ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีชอร์ช เกลมองโซ (Georges Clémenceau)* แห่งฝรั่งเศสขัดขวางไม่ให้อิตาลีได้รับดินแดนทั้งหมดตามข้อตกลงในสนธิสัญญาลอนดอน ซึ่งสร้างความผิดหวังอย่างมากให้แก่ วิตโตรีโอ ออร์ลันโด (Vittorio Orlando)* ผู้แทนของรัฐบาลอิตาลีในที่ประชุม รวมทั้งพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ และประชาชนชาวอิตาลีซึ่งต่อมาได้หันไปสนับสนุนลัทธิฟาสซิสต์ที่จัดตั้งโดยมุสโสลีนี ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ โดยเน้นลัทธิชาตินิยมในการกอบกู้สถานการณ์และศักดิ์ศรีของอิตาลีที่ต้องเสียหน้าในเวทีการเมืองโลก

 ในต้นทศวรรษ ๑๙๒๐ ขณะที่อิตาลีต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งอาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองได้ พรรคฟาสซิสต์จึงเห็นเป็นโอกาสในการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้นและสามารถยึดครองพื้นที่ในเขตชนบทในภาคเหนือของอิตาลีได้เกือบทั้งหมด และเรียกร้องให้รัฐบาลสละอำนาจในการปกครองประเทศให้แก่พรรคฟาสซิสต์ นายกรัฐมตรีลุยจี ฟักตา (Luigi Facta) จึงทูลให้พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ทรงประกาศกฎอัยการศึก แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ เขาจึงประกาศลาออกในวันที่๒๘ตุลาคม ขณะเดียวกันเซซาร์มารีอา เดเวกกี(Cesar Maria De Vecchi)ผู้นำกองกำลังเชิ้ตดำ (Black shirts) ของมุสโสลีนีซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัด “การเดินขบวนสู่กรุงโรม” (March on Rome) เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะที่ได้รับการสนับสนุนจากชาวอิตาลีก็ได้ประกาศอย่างชัดเจนกับมุสโสลีนีว่าเขามีความจงรักภักดีต่อกษัตริย์และการเดินขบวนครั้งนี้ต้องไม่ขัดพระทัยและให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ด้วย แต่มุสโสลีนีประเมินสถานการณ์ว่าการเดินเข้าสู่กรุงโรมอาจล้มเหลวและจะนำภัยมาสู่เขาได้ หากพระเจ้าวิกเตอร์เอมมานูเอลที่ ๓ ไม่ทรงเห็นด้วย เขาจึงคิดลี้ภัยออกนอกประเทศ อย่างไรก็ดี ในเที่ยงคืนของวันที่ ๒๙ ตุลาคม พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ กลับทรงส่งโทรเลขเชื้อเชิญให้มุสโสลีนีมายังกรุงโรมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และในตอนกลางวันของวันที่ ๓๐ ตุลาคม ประชาชนกว่า ๕๐,๐๐๐ คนที่สนับสนุนลัทธิฟาสซิสต์ได้เคลื่อนขบวนเข้าสู่กรุงโรมและสามารถเฉลิมฉลองชัยชนะของลัทธิฟาสซิสต์ได้สำเร็จ มุสโสลีนีขณะมีอายุเพียง ๓๙ ปี ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองและมีสมาชิกพรรคฟาสซิสต์เพียง ๓๕ คนที่นั่งในรัฐสภาเท่านั้น

 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระเจ้าวิกเตอร์เอมมานูเอลที่ ๓ ซึ่งทรงกลัวภัยของลัทธิสังคมนิยมก็ไม่ทรงคิดยับยั้งอำนาจของมุสโสลีนี ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ มุสโสลีนีก็สามารถสถาปนาอำนาจเผด็จการและอยู่ในฐานะผู้นำของประเทศที่ไม่มีอำนาจใดมาทัดทานได้ โดยรับผิดชอบโดยตรงต่อกษัตริย์เท่านั้น ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๓๕ เขาก็ได้นำอิตาลีเข้าสู่สงครามกับอะบิสซีเนียหรือต่อมาเรียกว่าสงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย (Italo-Ethiopian War)* เพื่อแก้แค้นที่อิตาลีเคยปราชัยในสงครามอะบิสซีเนียที่เมืองอะโดวา (Adowa) ใน ค.ศ. ๑๘๙๕ [ใน ค.ศ. ๑๙๕๐ อะบิสซีเนียเปลี่ยนชื่อเป็นเอธิโอเปีย (Ethiopia)] หลังจากได้รับชัยชนะ มุสโสลีนีได้เอาใจพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ โดยสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งอะบิสซีเนียด้วย ซึ่งทำให้พระองค์ปลาบปลื้มพระทัยเป็นอย่างมาก

 การรุกรานอะบิสซีเนียดังกล่าวทำให้สันนิบาตชาติ (League of Nations)* ลงมติคว่ำบาตรอิตาลีทางเศรษฐกิจ มุสโสลีนีจึงหันไปผูกมิตรกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนีมากขึ้น และเข้าร่วมในกลุ่มแกนร่วมโรม-เบอร์ลิน (Rome-Berlin Axis)* ความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ประเทศจึงแนบแน่นเป็นลำดับ ต่างฝ่ายต่างให้การสนับสนุนกันและกันทั้งกิจการภายในและภายนอก ภายในมุสโสลีนีก็สามารถโน้มน้าวให้พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ดำเนินนโยบายกำจัดบทบาทของชาวยิวตามแนวทางของพรรคนาซี (Nazi Party)* โดยใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ทรงลงพระปรมาภิไธยผ่านกฎหมายกีดกันชาวยิวหลายฉบับ ห้ามชาวยิวประกอบอาชีพครู นักกฎหมาย และนักหนังสือพิมพ์ และห้ามชาวยิวเข้าศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของรัฐ รวมทั้งเข้ายึดทรัพย์สินของชาวยิว ส่วนภายนอกต่างก็ให้การสนับสนุนอีกฝ่ายในการเข้ายึดครองดินแดนต่าง ๆ ท้ายที่สุดอิตาลีก็เข้าครอบครองแอลเบเนีย (Albania) ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๓๙ พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ทรงได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์แห่งแอลเบเนียด้วย ขณะเดียวกัน พระองค์ก็ทรงถูกประณามจากประชาชาติต่าง ๆ ในยุโรปในการสนับสนุนการใช้อำนาจเผด็จการของมุสโสลีนี การลิดรอนสิทธิของชาวยิว และการเข้ารุกรานและขยายอำนาจของอิตาลีในต่างแดน

 ในตอนต้นของสงครามโลกครั้งที่ ๒ อิตาลียังคงสงวนท่าทีที่จะเข้าสู่สงครามและดำรงความเป็นกลางและไม่ให้ความร่วมมือทางการทหารแก่เยอรมนี ดังจะเห็นได้ว่าหลังเหตุการณ์การบุกโปแลนด์ของกองทัพเยอรมันได้ ๓ เดือน สมเด็จพระราชินีเอเลนา พระมเหสีในพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ยังทรงมีพระอักษรถึงสมเด็จพระราชินีของชาติยุโรป ๖ ประเทศที่ยังดำรงความเป็นกลางอยู่ ได้แก่ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์เบลเยียม บัลแกเรีย รวมทั้งลักเซมเบิร์ก และสมเด็จพระพันปีแห่งยูโกสลาเวีย เพื่อให้ทรงโน้มน้าวไม่ให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจนำประเทศเข้าสู่ภาวะสงคราม

 ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๐ อิตาลีปรับเปลี่ยนนโยบายเป็นกลางและเข้าร่วมรบเป็นฝ่ายเยอรมนี การเข้าสู่สงครามในขณะที่อิตาลียังไม่มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ นั้น ได้สร้างความหายนะให้แก่ประเทศเป็นอันมาก ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ กองทัพอิตาลีปราชัยอย่างยับเยินในการรบในแอฟริกาตอนเหนือ (North America Campaign)* และเพลี่ยงพล้ำต่อกรีซจนต้องถอนกำลังออกจากกรีซ ต่อมาในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๑ อิตาลีก็สูญเสียดินแดนทางตะวันออกของแอฟริกาที่เคยครอบครอง ต่อมาในต้น ค.ศ. ๑๙๔๓ หน่วยทหาร ๑๐ หน่วยใน “กองทัพอิตาลีในรัสเซีย” (Italian Army in Russia; Armata Italianna in Russia–ARMIR) ก็ถูกตีแตกพ่ายแพ้อย่างยับเยินในยุทธการที่สตาลินกราด (Battle of Stalingrad)* และในปลายปีนั้น กองกำลังสุดท้ายของอิตาลีในตูนิเซียก็ถูกทำลาย และซิซิลีก็ถูกฝ่ายพันธมิตรเข้ายึดครอง ส่วนกองทัพเรือก็ขาดแคลนน้ำมันและถูกทำลายลงเช่นเดียวกัน จนกองทัพเรือไม่สามารถที่จะปกป้องทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่อิตาลีถือว่าเป็น “ทะเลของอิตาลี” (Italy’s Sea) หรือทะเลของเรา (Mare Nostrum) ได้อีกต่อไป การพ่ายแพ้ในสมรภูมิต่าง ๆ ของกองทัพอิตาลีมีผลให้ประชาชนอิตาลีเสื่อมความนิยมในองค์พระประมุข ขณะเดียวกันใน ค.ศ. ๑๙๔๓ พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ก็ทรงยอมสละพระราชอิสริยยศจักรพรรดิแห่งอะบิสซีเนียและกษัตริย์แห่งแอลเบเนีย ซึ่งพระองค์ไม่เคยย่างพระบาทเข้าไปในฐานะพระประมุขเลย

 ชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรในการรบในแอฟริกาเหนือและการยึดครองซิซิลีในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ มีผลให้พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ทรงปลดมุสโสลีนีออกจากตำแหน่งผู้นำและจับคุมขังขณะเดียวกันระบบฟาสซิสต์ของอิตาลีก็ถูกทำลายลงนับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า ๑๗ ปีที่พระองค์หลุดพ้นจากอำนาจและอิทธิพลของมุสโสลีนีและสามารถตัดสินพระทัยในการแก้ไขวิกฤตการณ์หรือบริหารจัดการด้วยพระองค์เอง และทรงแต่งตั้งให้จอมพลปีเอโตร บาโดลโย (Pietro Badoglio) ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษนิยมเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำคณะรัฐบาลแทนที่จะเป็นตัวแทนของกลุ่มที่ต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ที่ต้องการการแก้แค้น

 ต่อมาในวันที่ ๘ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๓ พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ทรงประกาศสงบศึกกับฝ่ายพันธมิตร ขณะเดียวกันพระองค์ทรงเกรงว่ากองทัพเยอรมันจะบุกเข้ากรุงโรม จึงทรงลี้ภัยพร้อมคณะรัฐบาลไปยังเมืองบรินดีซี (Brindisi) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเพื่อความปลอดภัย เพราะมีข่าวนับตั้งแต่มุสโสลีนีถูกโค่นอำนาจลงว่าฮิตเลอร์วางแผนจะส่งกองกำลังเข้ากรุงโรมเพื่อจับกุมพระองค์ การลี้ภัยของพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ พร้อมคณะรัฐบาลจากกรุงโรมได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ประชาชนทั้งภายในและภายนอกเป็นอันมาก เพราะในอังกฤษพระเจ้าจอร์จที่ ๖ (George VI ค.ศ. ๑๙๓๖–๑๙๕๒)* และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบท (Elizabeth) พระมเหสียังคงประทับเพื่อเป็นกำลังใจแก่พสกนิกรท่ามกลางการโจมตีทางอากาศของฝ่ายเยอรมนีในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* หรือแม้แต่สันตะปาปาไพอัสที่ ๑๒ (Pius XII) ก็ไม่ยอมทิ้งกรุงโรมและสวดภาวนาพร้อมกับชาวอิตาลีจำนวนมากในย่านซานลอเรนโซ (Quartiere San Lorenzo) ขณะที่ฝ่ายเยอรมนีทิ้งระเบิดโจมตีกรุงโรม

 ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๔ พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ทรงสละพระราชอำนาจทั้งปวงตามรัฐธรรมนูญ คงไว้แต่พระราชอิสริยยศกษัตริย์แห่งอิตาลีเท่านั้น ต่อมาหลังจากกรุงโรมได้รับการปลดปล่อยจากฝ่ายพันธมิตรในวันที่ ๔ มิถุนายน ทรงมอบพระราชอำนาจที่ยังคงมีเหลืออยู่บ้างแก่เจ้าชายอุมแบร์โต พระราชโอรส และแต่งตั้งให้พระองค์เป็นพลโทแห่งกองทัพอิตาลี ต่อมาในวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ทรงสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการ ก่อนที่ชาวอิตาลีจะมีการลงประชามติว่าจะดำรงสถาบันกษัตริย์ต่อไปหรือไม่และมอบราชบัลลังก์ให้แก่เจ้าชายอุมแบร์โตโดยหวังว่าการสละราชบัลลังก์จะช่วยรักษาสถาบันกษัตริย์ของอิตาลีไว้ได้ แต่การลงประชามติในเดือนต่อมา ปรากฏว่าประชาชนร้อยละ ๕๒ เห็นด้วยกับการจัดตั้งระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ จึงทำให้ราชอาณาจักรอิตาลีต้องสลายตัว พร้อมกับการสิ้นสุดพระราชอำนาจของพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒ (Umberto II)* ที่ครองราชย์ได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้นผลของการลงประชามติยังทำให้พระราชวงศ์ชายทุกพระองค์ของราชวงศ์ซาวอยต้องเสด็จออกนอกประเทศและห้ามเสด็จกลับอิตาลีอีก พระเจ้าวิกเตอร์เอมมานูเอลที่ ๓ เสด็จไปประทับในอียิปต์ และสวรรคตที่เมืองอะเล็กซานเดรีย เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ สิริพระชนมายุ ๗๗ พรรษา

 แม้พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ จะไม่ได้สร้างความประทับใจให้แก่ชาวอิตาลีมากนัก โดยเฉพาะระหว่างช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ จนสิ้นพระราชอำนาจ การปล่อยให้มุสโสลีนีและพรรคฟาสซิสต์เติบใหญ่ทั้งที่พระองค์มิได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนเพียงเพราะต้องการรักษาความสงบภายในประเทศและหลีกเลี่ยงภาวะสงครามกลางเมืองได้สร้างความด่างพร้อยให้แก่พระองค์อย่างมาก อย่างไรก็ดี สิ่งที่พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ทิ้งไว้เป็นมรดกและสมบัติของชาติให้แก่ชาวอิตาลี ได้แก่ เหรียญสะสมจำนวนกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ชิ้น ซึ่งมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมันจนถึงช่วงการรวมชาติอิตาลี โดยพระองค์พระราชทานเหรียญทั้งหมดให้แก่ชาวอิตาลีก่อนที่จะเสด็จลี้ภัยไปยังอียิปต์ ยกเว้นแต่เหรียญต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับราชวงศ์ซาวอยที่พระองค์ทรงนำติดไปด้วยหลังจากพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒ สวรรคตใน ค.ศ. ๑๙๘๓ เหรียญสะสมดังกล่าวก็ถูกมอบให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ กรุงโรม และถูกจัดแสดงเป็นกลุ่มเดียวกับเหรียญพระราชทานของพระราชบิดาใน ค.ศ. ๑๙๔๖ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๐–๑๙๔๓ พระเจ้าวิกเตอร์เอมมานูเอลที่๓ได้ทรงพระอักษรเกี่ยวกับเหรียญสะสมของพระองค์ และต่อมาได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือรวม ๒๐ เล่ม ในชื่อ Corpus Nummorum Stalicorum ซึ่งนับเป็นงานเขียนที่มีคุณค่าสำหรับนักสะสมเหรียญเป็นอย่างยิ่ง.



คำตั้ง
Victor Emmanuel III
คำเทียบ
พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓
คำสำคัญ
- การเดินขบวนสู่กรุงโรม
- การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส
- การรบในแอฟริกาตอนเหนือ
- การรวมชาติอิตาลี
- เกลมองโซ, ชอร์ช
- แกนร่วมโรม-เบอร์ลิน
- ความตกลงไตรภาคี
- ค่ายกักกัน
- จอร์จ, เดวิด ลอยด์
- จอร์จ, ลอยด์
- โจลิตตี, โจวันนี
- นาซี
- ปัญหากรุงโรม
- พรรคนาซี
- พรรคฟาสซิสต์
- ฟอช, จอมพล แฟร์ดีนอง
- ฟอช, แฟร์ดีนอง
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- ยุทธการที่คาปอเรตโต
- ยุทธการที่สตาลินกราด
- ยูโกสลาเวีย
- รีซอร์จีเมนโต
- ลัทธิจักรวรรดินิยม
- ลัทธิฟาสซิสต์
- ลัทธิอนาธิปไตย
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามอิตาลี-ตุรกี
- สงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย
- สนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี
- สนธิสัญญาลอนดอน
- สันนิบาตชาติ
- ออร์ลันโด, วิตโตรีโอ
- ออสเตรีย-ฮังการี
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1869–1947
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๑๒–๒๔๙๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-